ประวัติของสำนักงานผู้ดูแลนักเรียน
สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนในประเทศออสเตรเลีย หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อว่า “สนร.” ชื่อภาษาอังกฤษ คือ The Office of Educational Affairs (OEA) เป็นหน่วยงานในสังกัดของ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักนายกรัฐมนตรี หรือ สำนักงาน ก.พ. ซึ่งทำหน้าที่ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลของข้าราชการพลเรือน และดำเนินการเกี่ยวกับทุนเล่าเรียนหลวง ทุนของรัฐบาล บุคลากรภาครัฐ และนักเรียนทุนส่วนตัวที่อยู่ในความดูแลของ ก.พ. ตาม พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 8 (8) (9) และมาตรา 13 (9) (10)
ในอดีตที่ผ่านมาสำนักงานผู้ดูแลนักเรียน มีจุดเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2423 การจัดการการศึกษา และดูแลนักเรียนทุนรัฐบาลในต่า่งประเทศของสำนักงาน ก.พ. จากอดีตประเทศไทยเริ่มส่งคนไปศึกษาต่างประเทศครั้งแรกตั้งแต่ ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) โดยส่งไปประเทศอังกฤษเป็นประเทศแรก คือ “นายฉุน” ไปศึกษาวิชาการเดินเรือ และฝากการดูแลกับกัปตันเดินเรือสมุทร นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 จวบจนถึงปัจจุบัน ได้มีการส่งคนไทยไปศึกษาต่างประเทศโดยตลอด
การจัดการการศึกษาของนักเรียนไทยในต่าง ประเทศ เริ่มขึ้นครั้งแรกในประเทศอังกฤษ โดยระยะแรกมีผู้ดูแลนักเรียนเป็นชาวอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2471 มีหน้าที่ในการดูแลจัดการศึกษานักเรียนทุนรัฐบาลในต่างประเทศ ถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่ของ ก.พ. โดยกำหนดให้มีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดสรรทุนรัฐบาล การคัดเลือก การดูแลจัดการการศึกษา รวมทั้ง การให้ทำงานรับราชการหลังสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศอีกด้วย
สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนในประเทศออสเตรเลีย ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2496 ( ค.ศ. 1953 )
การดูแลจัดการการศึกษา นักเรียนทุนรัฐบาล บุคลากรภาครัฐ และนักเรียนที่อยู่ในความดูแลของ ก.พ.
ในปัจจุบันสำนักงาน ก.พ. ได้จัดตั้ง สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนอยู่ในประเทศต่าง ๆ 7 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยที่ สนร. ออสเตรเลียมี อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการศึกษา) เป็น ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงาน มีหน้าที่เสมือนเป็นผู้ปกครองของนักเรียน ทำหน้าที่ดำเนินการต่าง ๆ ด้านการดูแลจัดการศึกษาแก่ นักเรียนทุนรัฐบาล และ ข้าราชการลาศึกษา และฝึกอบรมในต่างประเทศ ตามแนวทาง ที่ ก.พ. กำหนดมาโดยตลอด จนถึงปัจจุบัน โดยสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนได้รับมอบหมายจากสำนักงาน ก.พ. ในการทำหน้าที่ดูแลจัดการการศึกษาให้แก่นักเรียนทุนรัฐบาล ข้าราชการ และนักเรียนที่ฝากอยู่ในความดูแลของ ก.พ. ในต่างประเทศ
หน้าที่ความรับผิดชอบของสำนักงานผู้ดูแลนักเรียน แบ่งประเภทหน้าที่ความรับผิดชอบหลักๆ ได้ดังนี้
- การดูแลจัดการศึกษา การให้คำแนะนำช่วยเหลือนักเรียนทุนรัฐบาล ข้าราชการ บุคลากรภาครัฐ และนักเรียนทุนอื่นๆที่ฝากอยู่ในความดูแลของ ก.พ.ตามระเบียบที่ได้รับมอบหมายจากสำนักงาน ก.พ. เพื่อให้สามารถสำเร็จการศึกษา ฝึกอบรม ตามโครงการและระยะเวลาที่ทางราชการหรือหน่วยงานกำหนดไว้ และกลับไปรับราชการหลังสำเร็จการศึกษา
- สนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับด้านการศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือต่างๆ ในการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตรวจสอบรายงานความก้าวหน้าทางการศึกษา และปรับปรุงงานบริการด้านการศึกษาของ สนร.
- พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือประสานงานระหว่าง สนร. สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชนของต่างประเทศ เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมงานดูแลจัดการการศึกษา
- ภารกิจอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมายจากสถานเอกอัครราชทูตและสำนักงาน ก.พ.
ประวัติทุนเล่าเรียนหลวง และทุนรัฐบาล
การพัฒนาคนโดยการให้ทุนไปศึกษาหรือฝึกอบรมในต่างประเทศมีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีจนถึงปัจจุบัน จุดหมายเพื่อให้ผู้รับทุนได้เพิ่มพูนความรู้ สั่งสมประสบการณ์ และนำความรู้และประสบการณ์ที่รับ มาปรับใช้พัฒนาประเทศและสังคมไทย
ระยะแรก ไทยเราส่งคนไปศึกษาฝึกอบรมในต่างประเทศเพียงไม่กี่ด้าน และส่งไปเพียงไม่กี่ประเทศ แต่ปัจจุบันเราส่งคนไปศึกษาฝึกอบรมในทุกด้าน ครอบคลุม 40 กว่าประเทศ
สมัยกรุงสุโขทัย
ในสมัยกรุงสุโขทัย ราชการส่งคณะสงฆ์ไปศึกษาและฝึกอบรมทางพุทธศาสนาที่ประเทศลังกา และส่งไปเรียนการทำชามสังคโลกที่ประเทศจีน
สมัยกรุงศรีอยุธยา
ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ราชการส่งคนไปประเทศฝรั่งเศสเพื่อศึกษาวิทยาการสมัยใหม่ ได้แก่ วิชาการทำน้ำพุ วิชาก่อสร้าง วิชาช่างเงินและช่างทอง ตลอดจนขนบธรรมเนียมของผู้ดีฝรั่งเศส
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ราชการส่งคนไปศึกษาวิชาการเดินเรือที่ประเทศอังกฤษ โดยส่งสามัญชน ชื่อ “นายฉุน”
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ราชการส่งนักเรียนทุน “นายทด บุนนาค” และ “นายเทศ บุนนาค” ไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ โดยส่งไปพร้อมกับคณะทูตไทยเมื่อ พ.ศ. 2400 นอกจากนักเรียนแล้ว ราชการยังส่งข้าราชการไปศึกษาวิชาชีพเฉพาะ เช่น การพิมพ์ และการซ่อมนาฬิกา ส่งข้าราชการไปดูงานในต่างประเทศทางด้านการปกครองและบำรุงบ้านเมืองที่ประเทศสิงคโปร์ในปี พ.ศ. 2404 ด้วย
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ราชการส่งนักเรียนไทยจำนวน 206 คน ไปศึกษาในประเทศที่เป็นต้นแบบของวิชาการแต่ละด้าน เช่น อังกฤษ เยอรมัน ออสเตรีย ฮังการี เดนมาร์ก และฝรั่งเศส โดยเน้นให้ไปศึกษาภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมันคณิตศาสตร์ และวิชาตามที่นักเรียนถนัด เช่น วิชาทหารบก ทหารเรือ การทูต กฎหมาย แพทย์ และวิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น ในสมัยนี้ เริ่มมีการแบ่งนักเรียนทุนเป็น 2 ประเภท คือ นักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง และนักเรียนทุนตามความต้องการของกระทรวง นอกจากนี้ ยังเริ่มมีการสอบแข่งขันเพื่อรับทุนด้วยอย่างเป็นกิจลักษณะด้วย
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ราชการส่งนักเรียนไทยไปศึกษาต่างประเทศ จำนวน 304 คน ต่อมาเนื่องจากปัญหาทางฐานะทางการเงินการคลังของประเทศในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 กรรมการองคมนตรีและสภาการคลัง จึงได้ลงมติในปี พ.ศ. 2465 ให้งดส่งนักเรียนทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อต่างประเทศเป็นการชั่วคราว ยกเว้นทุนเล่าเรียนหลวงที่ยังคงให้มีการจัดส่งต่อไป
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ราชการได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการในการคัดเลือก การดูแลจัดการศึกษาของนักเรียนทุนรัฐบาลให้เป็นระบบและรัดกุมยิ่งขึ้น โดยมีคณะกรรมการรักษาพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ก.ร.พ.) เป็นผู้รับผิดชอบคัดเลือก จัดการดูแลการศึกษาของนักเรียนทุนหลวงฝ่ายพลเรือนในต่างประเทศ และต่อมาในปี 2476 ก็เปลี่ยนเป็นคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เป็นผู้รับผิดชอบแทน ในช่วงหลังนี้ ได้มีการพักการให้ทุนเล่าเรียนหลวงไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้มีทุนเล่าเรียนหลวงขึ้นมาอีกครั้งในปี 2507 และเพิ่มจำนวนทุนเล่าเรียนหลวงจากปีละ 2 ทุน เป็น 9 ทุน และนอกจากทุนเล่าเรียนหลวงแล้ว ยังได้มีการขยายทุนเป็นทุนรัฐบาลประเภทอื่นให้หลากหลาย ครอบคลุมกลุ่มคนต่าง ๆ เช่น นักเรียนในต่างจังหวัด นักเรียนผู้ด้อยโอกาสเนื่องจากความผิดปกติทางร่างกาย เป็นต้น
ปัจจุบัน ก.พ. โดยสำนักงาน ก.พ. เป็นหน่วยงานที่ดูแลจัดการนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง และนักเรียนทุนรัฐบาลต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าทั้งนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง และนักเรียนทุนรัฐบาล จะสำเร็จการศึกษาและกลับมาปฏิบัติงานในประเทศไทยตามข้อกำหนดของแต่ละประเภททุนได้
ที่มา :
- สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน, วิวัฒนาการของสำนักงาน ก.พ. พ.ศ.2471 – 2540 กรุงเทพมหานคร : สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน, 2540
- สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน, วิวัฒนาการของนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงและนักเรียนทุนรัฐบาล กรุงเทพมหานคร : สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน, 2540
หมายเหตุ เนื้อหาในหน้านี้ ได้รับการปรับแต่งจากที่ปรากฎบนเว็บไซต์ สำนักงาน ก.พ. www.ocsc.go.th