นักเรียนทุนฯ มีสิทธิเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ดังนี้
- ค่าเดินทางเพื่อย้ายไปศึกษาในระดับที่สูงขึ้น (ใช้แบบคำร้องขอเบิกค่าใช้จ่าย)
- ค่าเดินทางกลับประเทศไทยหลังสำเร็จ/เสร็จสิ้นการศึกษา
- ค่าเดินทางไปสัมมนาวิชาการ
- ค่าเดินทางไป Re-new passport/Visa
- ค่า Dental Treatment
- ค่ารักษาพยาบาล
1. ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพื่อย้ายไปศึกษาในระดับที่สูงขึ้น
นักเรียนทุนฯ มีสิทธิเบิกตามที่จ่ายจริง โดยมีข้อกำหนด ดังนี้
- ต้องเป็นค่าใช้จ่ายเดินทางโดยเครื่องบิน หรือพาหนะสาธารณะ (เช่น รถไฟ รถประจำทาง) ในชั้นประหยัด
- ต้องเป็นค่าเดินทางจากเมืองที่สถานศึกษาเดิมตั้งอยู่ ไปเมืองที่สถานศึกษาใหม่ตั้งอยู่
- ต้องแนบใบเสร็จรับเงิน (Passenger Receipt และ Itinerary Invoice) สำหรับค่าตั๋วเครื่องบิน และกากตั๋วรถโดยสารสาธารณะ สำหรับรถไฟและรถประจำทาง มาประกอบคำขอเบิกค่าเดินทางด้วย
ข้อควรจำ
- นักเรียนทุนฯ ซึ่งย้ายสถานศึกษาเพื่อศึกษาในระดับเดิม จะไม่มีสิทธิเบิกค่าเดินทาง เช่น เรียนปริญญาตรีปีแรกในสถานศึกษา ก. แล้วย้ายไปศึกษาระดับเดิม (ปริญญาตรี) ในสถานศึกษา ข. จะเบิกไม่ได้
- ผู้เดินทางโดยรถเช่าหรือรถส่วนตัว ไม่มีสิทธิเบิกค่าเช่ารถหรือค่าน้ำมัน
- ผู้เดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านที่เมืองไทย แล้วเดินทางจากเมืองไทยไปสถานศึกษาใหม่โดยตรง ไม่มีสิทธิค่าเดินทางเพื่อย้ายไปศึกษาในระดับที่สูงขึ้น
- นักเรียนทุนฯ ต้องจ่ายค่าเดินทางระหว่างสนามบิน (สถานีรถไฟหรือสถานีรถประจำทาง) กับที่พักเอง
- การเดินทางต้องเป็นเส้นทางตรงจากเมืองที่สถานศึกษาเดิมตั้งอยู่ ไปเมืองที่สถานศึกษาใหม่ตั้งอยู่ ต้องไม่มีการออกนอกเส้นทาง หรือพักค้างคืนนอกเส้นทาง
- นักเรียนฯ ไม่มีสิทธิ์เบิกค่าเดินทาง ถ้าสถานศึกษาเดิมและ สถานศึกษาใหม่ ตั้งอยู่ในเมืองเดียวกัน
- ค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตไม่สามารถเบิกได้
2. ค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับประเทศไทยหลังสำเร็จการศึกษา
- ค่าตั๋วเครื่องบินเที่ยวกลับ
- นทร. ออสเตรเลีย ขอให้ติดต่อ สนร. เพื่อวางแผนการเดินทาง โดย สนร. จะจองตั๋วเครื่องบินให้ ยกเว้น กรณีที่มีผู้ติดตาม นทร. จะต้องจองตั๋วเอง
- นทร. นิวซีแลนด์ จะต้องจองตั๋วเองและส่งเอกสารประกอบการขอเบิก
- การบินไทยเบิกได้เต็มจำนวน/สายการบินอื่นเบิกได้ 75%
- ค่าการเดินทางระหว่างเมือง เช่น ค่าพาหนะรถโดยสารสาธารณะ, ค่าตั๋วเครื่องบินภายในประเทศ
- ค่าขนย้ายสิ่งของกลับประเทศไทย 450 USD
ทั้งนี้ การพิจารณาจะอยู่บนหลักการของความประหยัดและเหมาะสม ตามหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายดังนี้
- กรณีนักเรียนทดรองจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินไปก่อน ให้ยื่นแบบคำร้องขอเบิกจ่ายมายัง สนร. ได้โดยต้องมีเอกสารประกอบการเบิกจ่ายให้ครบถ้วน ดังต่อไปนี้
- ใบเสร็จรับเงินฉบับจริง หากชำระออนไลน์ โปรดส่งสำเนา Statement บัตรเครดิตประกอบการเบิกจ่ายเพิ่มเติม
- รายละเอียดเส้นทางการบิน (Itinerary)/E-Ticket
- เอกสารเปรียบเทียบราคาค่าตั๋วโดยสารของสายการบินอื่น อย่างน้อย 1 สายการบิน ที่ราคาน้ำหนักกระเป๋า 30 กิโลกรัม (สามารถ print จากเว็บไซต์ประกอบการเบิกจ่ายได้ หากไม่มีเอกสารเปรียบเทียบ สนร. จะเบิกจ่ายให้ตามข้อมูลเปรียบเทียบของ สนร.)
- กรณีนักเรียนฯ จองตั๋วเดินทาง ผ่านบริษัทนายหน้า สนร. จะจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินให้บริษัทนายหน้าโดยตรง โดยนักเรียนต้องนำส่งเอกสารดังนี้ให้ สนร.
- แบบแจ้งกำหนดวันเดินทางกลับประเทศไทยหลังสำเร็จการศึกษา
- Invoice ค่าตั๋วเครื่องบิน และรายละเอียดการเดินทาง
- เอกสารเปรียบเทียบราคาค่าตั๋วเครื่องบินของสายการบินอื่น อย่างน้อย 1 สายการบิน หรือ 1 บริษัททัวร์
ข้อควรจำ
- ค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตไม่สามารถเบิกได้
- ค่าตั๋วที่นักเรียนมีสิทธิเบิกจ่าย ต้องเป็นเส้นทางจากเมืองที่ท่านศึกษาถึงกรุงเทพฯ หากท่านเปลี่ยนเส้นทาง จะต้องติดต่อสอบถาม สนร. ก่อน พร้อมชี้แจงเหตุผลความจำเป็น โดยต้องเปรียบเทียบราคากับการเดินทางจากเมืองที่ศึกษา หากมีส่วนต่างนักเรียนต้องรับผิดชอบเอง
- นักเรียนต้องจองตั๋วล่วงหน้าอย่างน้อย 14 วัน
- ผู้ที่เดินทางกลับเยี่ยมบ้านชั่วคราวหรือพักการศึกษาชั่วคราว ไม่มีสิทธิ์เบิกค่าตั๋วเครื่องบินไป-กลับ
- ผู้เดินทางกลับประเทศไทยเพื่อเก็บข้อมูลประกอบการทำวิทยานิพนธ์ ไม่มีสิทธิเบิกค่าเดินทาง
ในบางกรณีอาจจะมีเงินเกินสิทธิ์ที่ถูกหัก เช่น นทร. กลับก่อนจำนวนวันที่ สนร. จ่ายค่า MA หรือมีค่า OSHC เกินจำนวน ซึ่ง ปกติ สนร. จะติดต่อขอคืนเงินกับ มหาลัยโดยตรง เพื่อขอ refund ยกเว้นว่ามหาลัยมีนโยบายให้ นทร. ต้องติดต่อ มหาลัยเพื่อขอคืนเงินเอง
3. ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปสัมมนาวิชาการ
- หากการไปประชุมทางวิชาการเป็นข้อบังคับของหลักสูตรที่กำหนดไว้ ปริญญาเอก เบิกได้ 1 ครั้งสามารถเบิกได้ดังนี้
- ค่าเดินทางไป-กลับ โดยประหยัด (ก่อน-หลัง 1 วันที่เข้าร่วมประชุม) ค่าลงทะเบียน ค่าที่พักโดยประหยัด (ไม่เกิน 200 AUD)
- ค่ารถโดยสารสาธารณะ ค่าวีซ่า และค่าประกันการเดินทาง
- หากไม่ได้เป็นข้อบังคับของหลักสูตร แต่นักเรียนมีความจำเป็น หรือจะเป็นประโยชน์ สามารถเบิกจ่ายได้ 1 ครั้ง โดยราชการสนับสนุนค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าลงทะเบียน ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ นักเรียนทุนรัฐบาลจะต้องรับผิดชอบจ่ายเอง
สำหรับ นทร. ที่ได้รับทุน ตั้งแต่ปี 2565 หากการไปประชุมทางวิชาการเป็นข้อบังคับของหลักสูตรที่กำหนดไว้ สามารถเบิกได้ดังนี้ ค่าเดินทางไป-กลับโดยประหยัด ค่าลงทะเบียน ค่าที่พัก ปริญญาโท อนุมัติให้เข้าร่วมได้ 1 ครั้ง ปริญญาเอก อนุมัติให้เข้าร่วมได้ 2 ครั้ง หากไม่ได้เป็นข้อบังคับของหลักสูตร แต่นักเรียนมีความจำเป็น หรือจะเป็นประโยชน์ ทั้ง ป.โท และป.เอก สามารถเบิกจ่ายได้ 1 ครั้ง โดยราชการสนับสนุนค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าลงทะเบียน ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ นักเรียนทุนรัฐบาลจะต้องรับผิดชอบจ่ายเอง |
แบบคำร้องขอเบิกค่าใช้จ่าย : ให้นักเรียนรวบรวมใบสำคัญทางการเงิน (Itinerary และ ใบเสร็จต่างๆ) ประกอบคำขอการเบิกจ่าย โดย สนร. จะพิจารณาจากความเหมาะสมและประหยัด และจะดำเนินการเบิกจ่ายภายหลังจากเสร็จสิ้นการประชุม นักเรียนไม่สามารถเบิกเงินล่วงหน้าได้ ดังนั้น โปรดตรวจสอบค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดให้ชัดเจน และวางแผนค่าใช้จ่ายให้เหมาะสม ทั้งนี้ หากได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย/แหล่งทุนอื่น ขอให้แจ้ง สนร. ด้วย โดยหลักฐานการเบิกจ่ายต้องไม่ซ้ำซ้อนกัน (ดาวน์โหลด ฟอร์ม PDF แบบขอเบิกค่าใช้จ่าย.pdf )
ข้อควรจำ
- ค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตไม่สามารถเบิกได้
- ค่าที่พัก ระบุรายละเอียด วันที่เข้าพักและจำนวนผู้เข้าพัก ได้ 1 คนเท่านั้น (หากมี 2 คน จะเบิกได้ ครึ่งราคา)
- ค่าเดินทางระหว่างเมือง หากเดินทางโดยเครื่องบินถูกกว่ารถไฟ สามารถเบิกได้ โดยนักเรียนหาข้อมูลเปรียบเทียบอัตราค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินที่มีอัตราถูกกว่าค่ารถไฟจริง
- อัตราแลกเปลี่ยน หากไม่มีหลักฐานแสดง สนร.จะคิดจากอัตราก่อนวันเดินทาง 1 วัน
- หากเดินทางไปทัศนศึกษาก่อน-หลัง การประชุม สนร. จะเบิกค่าใช้จ่ายจากเวลาที่เริ่มประชุม-สิ้นสุดการประชุมเท่านั้น
- ให้เบิกค่าใช้จ่ายได้ภายใน 1 ปี นับจากวันที่ออกใบเสร็จหรือวันที่สำรองจ่าย
4. ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไป Re-new passport/Visa
นักเรียนที่กำลังศึกษาในต่างประเทศที่ยังมีระยะเวลาศึกษาอยู่ด้วยทุนรัฐบาล สามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้ดังนี้
- จ่ายค่าธรรมเนียมหนังสือเดินทางอายุ 5 ปี (หนังสือเดินทางต้องเป็นประเภทเดียวกับที่ขอวีซ่านักเรียนเท่านั้น )
- ค่าธรรมเนียมในการต่ออายุวีซ่า
- ค่าที่พัก
- ค่าพาหนะ
- ค่าตรวจร่างกายประกอบการทำวีซ่า
- ค่าไปรษณีย์ในการจัดส่งเล่มไปยังที่พัก ณ เมืองที่ศึกษา
ตามที่จ่ายจริงโดยประหยัด ดังนี้
รายการค่าใช้จ่าย | รายละเอียด | หลักฐาน/เอกสารที่ต้องแสดง |
1. ค่าที่พัก | – เบิกค่าที่พักได้ 1 คืน ในราคาประหยัด เฉพาะกรณีไม่สามารถเดินทางไป-กลับในวันเดียวกันได้ – ค่าที่พักโดยประหยัด ต้องไม่รวมอาหารเช้า (ไม่เกิน $ 200 AUD / คืน) | ใบเสร็จ/ tax invoice |
2. การเดินทางจากเมืองที่ศึกษา | 2.1 เดินทางโดยเครื่องบิน สามารถเบิกค่าตั๋วโดยสารชั้นประหยัด (ไป-กลับ) โดยต้องออกจากเมือง/รัฐที่ศึกษาไปยังเมืองที่ตั้งของสถานกงสุลใหญ่ หรือสถานเอกอัครราชทูต ทั้งนี้ สามารถเดินทางล่วงหน้าได้ไม่เกิน 1 วัน และเดินทางกลับในวันเดียวกัน (หากทำได้) หรือเดินทางกลับวันถัดไป โดยเร็ว | กำหนดการเดินทางใบเสร็จค่าตั๋วโดยสารเอกสารเปรียบเทียบราคา |
2.2 เดินทางโดยรถสาธารณะประเภทอื่น (รถไฟ รถประจำทาง) สามารถเบิกค่าตั๋วตามที่จ่ายจริง โดยประหยัด (ไป-กลับ) ซึ่งต้องออกจากเมือง/รัฐที่ศึกษาไปยังเมืองที่ตั้งของสถานกงสุลใหญ่ หรือสถานเอกอัครราชทูต ทั้งนี้ สามารถเดินทางล่วงหน้าได้ไม่เกิน 1 วัน และเดินทางกลับในวันเดียวกัน (หากทำได้) หรือเดินทางกลับวันถัดไป โดยเร็ว | กำหนดการเดินทางใบเสร็จค่าตั๋วโดยสารเอกสารเปรียบเทียบราคา | |
3. การเดินทางภายในเมืองที่ตั้งของสถานกงสุลใหญ่ หรือสถานเอกอัครราชทูต | –ค่าใช้จ่ายเดินทางภายในเมืองซิดนีย์ และแคนเบอร์รา จะเบิกได้เฉพาะบริการรถโดยสาร สาธารณะเท่านั้น (ค่าโดยสารรถยนต์ส่วนบุคคลสาธารณะเบิกไม่ได้) – สำหรับ นครซิดนีย์ ค่าบัตรโดยสาร Opal (รถประจำทาง และ รถไฟ) – สำหรับ กรุงแคนเบอร์รา ค่ารถประจำทางตามจ่ายจริง – สำหรับผู้ที่เดินทางโดยเครื่องบินจากเมืองที่ศึกษาจะมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากสนามบินด้วย สามารถเบิกได้ตามที่จ่ายจริง โดยประหยัด | ใบเสร็จ |
5. ค่า Dental Treatment
ค่าทำฟัน (ประกันสุขภาพไม่คลอบคลุม) สามารถเบิกจ่ายได้ดังนี้
- ค่าถอนฟัน อุดฟัน รักษารากฟัน ค่าทำความสะอาดฟัน (เฉพาะการรักษา) จ่ายให้ครึ่งหนึ่ง
- ค่าทำความสะอาดฟัน นอกเหนือการรักษา เบิกจ่ายได้ครึ่งหนึ่ง ปีละ 1 ครั้ง
- ค่าครอบฟันและฟันเทียม (ไม่สามารถเบิกจ่ายได้)
- การทำฟันในประเทศไทยเบิกจ่ายได้ตามระเบียบกระทรวงการคลัง เฉพาะที่เข้าทำฟันในสถานพยาบาลของรัฐเท่านั้น
6. ค่ารักษาพยาบาล
ค่ารักษาพยาบาลแยกออกเป็น 2 กรณี คือ
- กรณีนักเรียนเจ็บป่วยเล็กน้อยหรือเป็นคนไข้นอกให้นักเรียนขอ Claim ตามสิทธิกับ บริษัทประกันสุขภาพเท่านั้น ส่วนที่ Claim ไม่ได้ นักเรียนต้องรับผิดชอบเอง
- นักเรียนจะขอเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลจากทางราชการได้เฉพาะกรณีเป็นคนไข้ใน และ เฉพาะส่วนที่เบิกจากบริษัทประกันไม่ได้เท่านั้น โดยพิจารณาเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย หากเข้ารับการ รักษาพยาบาลในประเทศไทย จะเบิกจ่ายได้เฉพาะการเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล ของรัฐเท่านั้น
ทั้งนี้ นักเรียนจะต้องยื่นรายการค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลทั้งหมด ประกอบกับใบรายละเอียด การจ่ายค่ารักษาพยาบาลของบริษัทประกันประกอบการขอเบิก ไปยังสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนฯ เพื่อพิจารณาเบิกจ่ายตามส่วนค่ารักษาพยาบาลที่เบิกจากบริษัทประกันไม่ได้