สัญญาณเตือนไฟไหม้-วินาทีสำคัญที่อาจตัดสินความเป็นความตาย
เมื่อเกิดเหตุการณ์สัญญาณเตือนดัง แน่นอนสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกคนคือ ตกใจปนสับสนทำอะไรไม่ถูก กับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น เพราะไม่เคยเจอมาก่อน และไม่รู้ว่าควรจะจัดการกับสถานการณ์ยังไง กับเสียงแบคกราวน์ที่ดังค่อยๆ ก่อน แล้วก็ดังขึ้นๆ เสียงนั้นก็คือ
Woop Woop, Woop Woop, EVACUATE NOW!
Woop Woop, Woop Woop, EVACUATE NOW!
เรื่องเล่า สู่กันฟัง
เรื่องที่ 1:
จากสิ่งๆที่เคยได้ยินจากเพื่อนๆ น้องๆ ที่มีประสบการณ์ทำอาหารในห้องพักนั้น
A:ทำอาหารแล้วมีควัน เครื่องsmoke detector ไม่จับได้เหรอ ?แล้วถ้าดังทำไงอะ?
B:น้องคนแรกบอก หนูเอาถุงพลาสติกคลุมที่ตรวจจับควัน เลยพี่
A:เอิ่ม!!อันตรายนะเนี่ย
B:มันเคยดังด้วยคะ ทุกทีเป็นเสียงปี๊บๆๆๆๆๆ เฉยๆ พวกหนูก็เอาพัดลมเป่าแล้วมันก็หาย
เรื่องที่ 2:
พี่มีเรื่อเล่าจากเพื่อนที่รู้จัก เล่าว่า
มีวันหนึ่งทำอาหารอยู่ในบ้าน share house กับเพื่อนๆที่เรียนด้วยกัน ทันใดนั้นเกิดเสียง Whoop Whoop Whoop ที่ไม่ได้ดังมาจาก Smoke Detector ในห้อง แล้วที่ระบบมันประกาศนั้นก็ไม่มีใครเข้าใจกัน ว่ามันต้องการให้เราทำอะไรเพราะไม่เคยได้ยินมาก่อน ไม่รู้มันพูดว่าอะไร!!
หากเหตุการณ์เกิดขึ้น สิ่งที่ต้องทำทันทีคือ ให้หยุดทำกิจกรรมทุกอย่างที่กำลังทำอยู่ หากกำลังทำกับข้าวให้ปิดไฟ ปิดแกสทุกอย่างให้เรียบร้อย แล้วเดินไปหยิบพาสปอร์ตของตัวเอง พร้อมกระเป๋าตังค์ และออกจากห้องล็อคให้เรียบร้อย รีบไปที่บันไดหนีไฟ และลงไปนอกตึกในทันที เพราะตอนนี้สัญญาณไฟไหม้รวมของตึกทำงานแล้ว ซึ่งเราไม่รู้ว่าเป็น Faulse Alarm (สัญญาณผิดพลาด), มีคนทำกับข้าวแล้วควันตลบทำให้สัญญาณทำงาน หรือเกิดไฟไหม้จริงๆ ดังนั้นเราจึงต้องปลอดภัยไว้ก่อน
หากลองสุ่ม ดูประมาณ 10 คน ว่ารู้จักคำว่า Evacuate หรือไม่ คำตอบเป็นที่น่าตกใจ เพราะ 7 ใน 10 บอกว่าไม่รู้จัก และน่าตกใจยิ่งกว่าก็คือ หลายคนบอกว่า ถึงแม้จะได้ยินเสียง วู้บๆ วู้บๆ Evacuate Now ก็ไม่รู้อยู่ดีว่าควรจะทำอะไร คงจะตกใจทำอะไรไม่ถูก ถ้าไม่มีคนพาออกจากห้อง ก็คงจะไม่ออกไปไหนอยู่ดี เวรกรรม
พี่คิดว่าเรื่องนี้สำคัญ เป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะรู้ และจำให้ขึ้นใจโดยเฉพาะคนที่จะต้องเข้ามาใช้ชีวิตในตึกสูง (ซึ่งความเป็นไปได้มีสูงมากสำหรับนักเรียนที่จะมาซิดนีย์,เมลเบิร์น)
ดังนั้น เราควรศึกษาและทำความรู้จักสัญญาณเตือนของระบบ ของตึกหรืออาคารนั้นๆ สังเกตทางเดินหนีไฟทุกครั้ง
ไม่ว่าจะเป็นที่พักอาศัยหรืออาคารสำนักงาน โดยทั่วไปแล้วสัญญาณไฟไหม้จะมีอยู่สามระดับใหญ่ๆ
ระดับ 1
เสียงเตือนจาก Smoke Detector
เท่าที่ผมเคยได้ยินมา ส่วนใหญ่ จะเสียงดัง ปี๊บๆๆๆๆ หรือ ปี๊บบบบบบบบบบบบบบบบ ยาวๆ ได้ยินเฉพาะในห้องนั้นๆ เป็นสัญญาณเตือนเบื้องต้น เพื่อให้ผู้ที่อยู่ในห้อง สามารถจัดการกับต้นตอของควันที่เกิดขึ้นได้ เช่น อาจจะทำครัวแล้วควันมาก
วิธีการจัดการปัญหานี้คือ เอาพัดลมไปเป่า หรือใช้กระดาษพัดที่ตัว Smoke Detector เพื่อลดความเจือจางของควันที่ตรวจจับได้ วิธีนี้ส่วนใหญ่จะได้ผล เสียงจะเงียบไป
โดยทั่วไปแล้วช่างเทคนิคจะตั้งค่าเสียงเตือนเบื้องต้นนี้เอาไว้ประมาณ 2-3 นาที ก่อนที่จะส่งสัญญาณไปที่ Control Room ถ้าเราสามารถหยุดเสียงนี้ได้ภายในเวลาที่กำหนด ทุกอย่างก็จะกลับสู่สภาวะปกติ
ระดับ 2
เสียงเตือนจาก Control Room เพื่อเตรียมพร้อมอพยพ
ถ้าหากเสียงยังคงดังเกินเวลาเบื้องต้นที่กำหนด ระบบจะส่งสัญญาณไปที่ Control Room เพื่อทำการส่งสัญญาณเตือนไปยังห้องอื่นๆ ข้อความในระดับนี้ จะเป็นเสียงเตือนทางลำโพงให้ทุกคนเตรียมพร้อม แต่อาจจะยังไม่สั่งให้อพยพ ตัวอย่างของเสียงเช่น
Beeppppp Beppppppp Beepppppp, Caution! There is a potential fire in the building. Please be ready for evacuation.
สิ่งที่จะต้องทำเมื่อได้ยินสัญญาณแบบนี้ก็คือ
1. ให้หยุดทำกิจกรรมทุกอย่าง แล้วเรียกทุกคนในบ้านให้ทราบถึงสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะถ้าเป็นเวลากลางคืนที่คนส่วนใหญ่นอนหลับ
2. หากสวมเสื้อผ้าที่ไม่เหมาะสม ให้รีบเปลี่ยนเสื้อผ้าที่จะเดินหรือวิ่งได้อย่างปลอดภัย สวมรองเท้าให้เรียบร้อย และอย่าใส่รองเท้าที่จะทำให้เป็นอุปสรรคในการวิ่ง
3. หากกำลังทำกับข้าว ให้ปิดแกส ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้า ปิดทุกอย่างที่หากทิ้งไว้แล้วอาจก่อให้เกิดอันตรายได้
4. หากกำลังใช้ระบบคอมพิวเตอร์ หรืออะไรที่ต้องการระบบรักษาความปลอดภัย เช่น พนักงานแคชเชียร์ ก็ให้ทำการล็อคระบบ ทันที
5. หยิบพาสปอร์ต และกระเป๋าสตางค์ และเอกสารสำคัญต่างๆ ติดตัวไว้ เท่านั้นก็พอ ไม่ต้องไปงกมัวห่วงสมบัติอย่างอื่น ห่วงชีวิตตัวเองซะก่อน
6. รีบระลึกชาติให้ได้ว่า ทางหนีไฟที่ใกล้ที่สุดของชั้นนั้นๆ อยู่ตรงไหน และจะไปถึงตรงนั้นโดยเร็วที่สุดได้อย่างไร
7. หากมีคนป่วยที่มีปัญหาในการเดินด้วยตัวเอง ให้มั่นใจว่ามีคนที่แข็งแรงคอยดูแลในการเคลื่อนย้าย
8. ตรวจสอบความเรียบร้อยของบ้านอีกครั้งว่ายังมีใครตกหล่นยังไม่ทราบเรื่องบ้าง และให้มารวมกันอยู่ที่เดียวใกล้ทางออกของห้อง พร้อมที่จะอพยพได้ทุกเมื่อ
ระดับ 3
เสียงเตือนให้อพยพ
ถ้าหาก Smoke Detector ยังไม่หยุดส่งสัญญาณว่ามีควันไฟ ทีนี้ทาง Control Room ก็จะส่งสัญญาณไปที่สถานีดับเพลิง เพื่อเรียกเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบ เมื่อถึงตอนนี้ ระบบจะส่งคำเตือนสุดท้ายสั่งให้อพยพออกจากอาคารทันที และจะไม่หยุดจนกว่าเจ้าหน้าที่ดับเพลิงจะมา
Woop Woop, Woop Woop, EVACUATE NOW!
Woop Woop, Woop Woop, EVACUATE NOW!
เมื่อได้ยินเสียงนี้ สิ่งที่จะต้องทำก็คือ
1. เปิดประตูห้อง และตรงไปยังประตูหนีไฟที่ใกล้ที่สุดทันที ### ห้ามใช้ลิฟต์เป็นอันขาด ### เพราะหากเกิดเพลิงไหม้จริง เค้าจะตัดไฟ และอาจจะถูกไฟคลอกตายในลิฟต์แทนที่จะได้หนีไปข้างนอก
2. หากมีผู้ป่วย ให้เอาผู้ป่วยออกไปก่อนในขณะที่คนในบันไดหนีไฟยังน้อยอยู่ เพราะหากรอให้คนวิ่งกันเยอะแล้ว อาจทำให้เกิดอันตรายได้
3. หากตึกนั้นมีทั้งบันไดหนีไฟ และบันไดธรรมดา ให้หนีไปทางหนีไฟเท่านั้น อย่าหนีไปทางบันไดธรรมดา เพราะ
– บันไดธรรมดาไม่มีระบบกันไฟและควัน
– หากอยู่ชั้นต่ำๆ เจ้าหน้าที่ดับเพลิงมักจะใช้บันไดหลักนี้ในการเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ จะทำให้กีดขวางกันและกันได้
4 เมื่อเข้าไปในบันไดหนีไฟแล้ว อย่าเปิดประตูบันไดหนีไฟค้างเอาไว้ เพราะถ้าหากมีเพลิงไหม้จริงๆ ควันไฟและควันไฟสามารถเข้ามาในช่องบันไดหนีไฟได้ ทางหนีไฟที่สร้างไว้ช่วยชีวิต จะกลายเป็นสุสานสำหรับคนที่กำลังหนีมาตามทางหนีไฟแทน เพราะมันจะกลายเป็นปล่องไฟชั้นดีเลยล่ะ
5. เมื่อลงไปถึงข้างล่างแล้ว ให้ไปรอรวมกันอยู่ในสถานที่ๆ ทางผู้ดูแลจัดให้ หรือถ้าไม่มีใครดูแล ก็ให้คนในกลุ่มไปรวมกันอยู่ที่ใดที่หนึ่ง แล้วตรวจสอบว่ามีใครหลงหายไปบ้างหรือไม่
6. อย่ากลับเข้าไปในตัวอาคารอีก จนกว่าทางเจ้าหน้าที่ดับเพลิงจะประกาศ Clear ให้กลับเข้าไปได้ จึงเข้าไป
ข้อควรระวัง
เจ้าของห้องเช่าร้อยละเกือบร้อย หรือผู้เช่าเอง จะเอาถุงหรือพลาสติคไปหุ้ม Smoke Detector เอาไว้ หรือไม่บางรุ่นก็ถอดถ่านทิ้งไปเลย เพราะมันมักจะดังเวลาทำกับข้าว ดังนั้นเพื่อตัดปัญหาจึงทำให้มันไม่ทำงานซะเลย จะเอาออกก็ตอนที่เอเจ้นจะมาตรวจบ้านนั่นแหละ ถึงแม้ว่าจะรู้ทั้งรู้ว่าผิดกฎหมาย แต่ก็ทำกันอย่างแพร่หลาย ดังนั้น Smoke Detector ในห้องเช่าส่วนใหญ่ จึงเป็นแค่ซากวัสดุติดเพดานอย่างหนึ่ง ที่ไม่ทำอะไรเลย เว้นแต่เกิดไฟไหม้ขึ้นมาจริงๆ จนไฟลุกท่วมพลาสติกละลายแล้วนั่นแหละ ถึงจะเริ่มทำงาน
ดังนั้น ผู้เช่าเองจึงต้องทำความเข้าใจในเรื่องนี้ และระมัดระวัง ถ้าหากได้ยินเสียงสัญญาณไฟไหม้รวมของตึกดังเมื่อไหร่ ให้รู้ไว้ว่า ต้องมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นในระดับที่น่าจับตามองและเตรียมพร้อมแล้วล่ะ
ถ้าเป็นตึกที่ใช้ระบบเก่าหน่อย เสียงเตือน อาจจะไม่ได้เป็นแบบที่ว่ามาด้านบน แต่อาจจะเป็นกริ่ง กรี๊งงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงง เฉยๆ ก็ได้
กรณีเกิดเพลิงใหม้จริงๆ
1. หากเป็นไปได้ให้วิ่งหนีลงไปด้านล่างเสมอ เว้นเสียแต่ว่า จะมีไฟลามเข้ามาในบันไดหนีไฟจนไม่สามารถลงไปได้ และไม่มีทางหนีไฟอื่นอีก จึงจะหนีขึ้นไปบนดาดฟ้าแทน เพื่อรอความช่วยเหลือจากด้านบน
2. ให้อยู่ห่างควันเท่าที่จะเป็นไปได้ หรือหากเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ให้ก้มต่ำเลียบพื้น แล้วรีบคลานไปยังทางหนีไฟที่ใกล้ที่สุด ถ้าเห็นว่ามีควัน และยังพอมีเวลาเหลืออยู่บ้าง ก่อนที่จะวิ่งออกจากห้องมา ให้หาผ้าชุบน้ำติดมาด้วย เพราะหากมีควันหนาจริงๆ ผ้าชุบน้ำจะช่วยยืดเวลาให้เราหาทางหลบหนีเพิ่มขึ้นได้อีกระยะนึง
ผู้ที่ตายในเหตุเพลิงไหม้ส่วนใหญ่ ไม่ได้ตายเพราะโดนไฟคลอกสดๆ แต่ตายเพราะหมดสติเนื่องจากสูดแกสพิษที่มากับควันไฟ แล้วจึงถูกไฟคลอกตายในภายหลัง ดังนั้นจำไว้ให้ขึ้นใจว่า ควันไฟจะลอยขึ้นข้างบนเสมอ ถ้าเป็นไปได้ ให้หนีลงต่ำ โอกาสรอดชีวิตจะมีมากขึ้น
3. หากอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกควันหรือไฟล้อมรอบ และมีอีกคนบาดเจ็บ เราคิดอยากจะช่วย แต่ก่อนช่วยให้วิเคราะห์ว่าถ้าช่วยแล้วจะทันการณ์หรือไม่ ถ้าเห็นว่ายังพอมีเวลาช่วยได้จึงช่วย เช่น เอาผ้าชุบน้ำปิดจมูกให้เค้าหายใจ แต่ก่อนเอาให้เค้า ให้เจ้าตัวสูดอากาศไว้ซะก่อน เมือ่ให้เค้าสูดแล้วก็เอากลับมา แล้วก็รีบพากันหนีไปทางหนีไฟ
แต่ถ้าเห็นว่าอันตรายเกินไป ก็ให้ตัดใจแล้วรีบออกจากที่นั้นให้เร็วที่สุด เพราะอย่างน้อยถ้าหากต้องเกิดเหตุสลดขึ้น จะได้สูญเสียเพียง 1 แต่ถ้าช่วยแล้วพลาด ก็จะกลายเป็นสูญเสีย 2 แทน
ฟังดูอาจจะเหมือนใจดำ แต่มันคือความเป็นจริง แม้แต่ในเหตุการณ์ทางเครื่องบินมีปัญหาด้านความกดดันในห้องโดยสาร หน้ากากออกซิเจนหล่นลงมา เค้ายังบอกเลยว่า ให้ผู้ปกครองใส่หน้ากากของตัวเองให้เรียบร้อยก่อน ก่อนที่จะไปช่วยใส่ให้เด็ก เพราะถ้าผู้ใหญ่ใส่ไม่ทันหมดสติไปก่อน โอกาสที่เด็กจะรอดก็มีน้อยมาก กรณีไฟไหม้นี้ก็เหมือนกัน ถ้าผู้ช่วยตายซะก่อน แล้วใครจะช่วยล่ะทีนี้
4. เมื่อลงมาถึงพื้นแล้ว ให้หนีไปอยู่ในพื้นที่ๆ ปลอดภัยจากควัน เปลวไฟ และสิ่งของที่อาจจะตกลงมาจากตัวอาคารเนื่องจากการระเบิด หรือถูกทำลายจากไฟ และอย่าไปอยู่ในพื้นที่กีดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ดับเพลิง
ถ้าเป็นไปได้ ให้พยายามเกาะกลุ่มกับเพื่อนตัวเองเอาไว้ให้มากที่สุด ถ้ามีใครบาดเจ็บ ก็ให้นำส่งหน่วยบริการ First Aid เพื่อนำส่งโรงพยาบาลต่อไป
หวังว่าบทความนี้ คงจะเป็นประโยชน์สำหรับเพื่อนๆ พี่ๆ และน้องๆทุกคน ไม่ว่าจะอยู่รัฐไหนในประเทศออสเตรเลียหรือแม้แต่ประเทศอื่นๆ เพราะระบบการเตือนภัย และการอพยพต่างๆ ก็เหมือนๆ กัน ต่างกันก็เพียงแต่ภาษาที่ใช้ประกาศเท่านั้น
SAFETY FIRST – ปลอดภัยไว้ก่อน
หากมีเหตุด่วนเหตุร้ายอะไร ขอให้แจ้งมายัง
สำนักงานผู้ดูแลนักเรียน (สนร.ออสเตรเลีย)
โดยด่วนเพื่อเราจะได้ให้ความช่วยเหลือต่อไปด้วย
Office of Educational Affairs
Royal Thai Embassy
76 Hopetoun Circuit
Yarralumla Canberra
ACT 2600 AUSTRALIA
Tel: +61 2 6281 1371
Email: oea@ocsc.org.au
Website: www.ocsc.org.au
บทความโดย:Ying